ประวัติสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารเรือ ในต่างประเทศ

Release Date : 13-03-2019 17:04:55
ประวัติสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารเรือ ในต่างประเทศ

ประวัติการทูตฝ่ายทหารเรือ
 
       ความเป็นมา - ความจำเป็นหลัก ๆ ของการที่จัดให้มีผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเหล่าทัพต่าง ๆ ไปประจำอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งก็เพื่อให้เป็นผู้แทนของกองทัพ ที่จะติดต่อสัมพันธ์กับกองทัพประเทศนั้นได้อย่างใกล้ชิด และที่สำคัญที่สุดเพื่อหาข่าว
       ตามประวัติผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือคนแรกของ กองทัพเรือคือ นาวาเอก หลวงเจียรกลการ (เจียม เจียรกุล) และประเทศที่ท่านได้ไปอยู่ประจำการ คือ อิตาลี โดยมีช่วงระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ราชการในครั้งนั้น คือ พ.ศ.2486-2490 ซึ่งเมื่อท่านได้เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว กองทัพเรือก็มิได้บรรจุผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือในประเทศนี้อีก และมาเริ่มบรรจุอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2532 จนถึงปัจจุบัน การที่ได้มีการบรรจุผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือที่อิตาลี ในตอนนั้น ยังคงหาหลักฐานถึงเหตุผลไม่ได้ แต่เชื่อกันว่า น่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ได้มีการสั่งต่อเรือจากอิตาลี และโดยที่เป็นช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 อิตาลีจึงได้นำเรือชุดนี้ไปใช้งานและมิได้ส่งมอบให้กับกองทัพเรือไทย โดยได้ชดใช้เงินคืนให้ภายหลัง
 
       การจัดตั้งในระยะเริ่มแรก - ในการแต่งตั้งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือคนแรกนั้น เป็นช่วงทียังมิได้มีการก่อตั้งกรมข่าวทหารเรือ แต่กองทัพเรือ มีงานด้านการข่าวรวมอยู่กับฝ่ายยุทธการ ในแผนกที่ 2 (สธ.ทร.2) ของกรมเสนาธิการทหารเรือ ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งที่ 2  เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2456 (จัดตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2446 แล้วยุบเลิกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2456) สำหรับกรมข่าวทหารเรือนั้น ได้เริ่มถือกำเนิดขึ้นอย่างแท้จริงเมื่อ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2498 และก่อนที่จะถึงวันถือกำเนิดนี้ กองทัพเรือได้มีการแต่งตั้งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ เรียงตามลำดับต่อจากนาวาเอก หลวงเจียรกลการ ดังนี้
       1. นาวาเอก หม่อมเจ้า ครรชิตผล อาภากร ประจำกรุงวอชิงตัน ปี 2489
       2. นาวาเอก ไสว ศรีผดุง ประจำกรุงลอนดอน ปี 2490
       3. นาวาเอก พิศนุ ณ ถลาง ประจำกรุงนิวเดลี ปี 2493
       4. นาวาเอก นิตย์ สุขุม ประจำกรุงมะนิลา ปี 2493
 
       ในปี 2493 นี้เช่นเดียวกัน กองทัพเรือได้มอบหมายให้ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ประจำกรุง ปารีส รักษาราชการ ผู้ช่วยทูตทหารเรือด้วย
       1. นาวาเอก นัย นพคุณ ประจำกรุงโตเกียว ปี 2495
       2. นาวาเอก ศิริ กระจ่างเนตร ประจำกรุงปารีส ปี 2498
 
       การจัดตั้งในระยะแรก ๆ คงจะยังไม่มีการทำงานแยกเป็นสัดส่วนชัดเจน เป็นเพียงแต่งตั้งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ ตามระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการทูตฝ่ายทหาร พ.ศ.2493 ซึ่งต่อมาก็ได้ออกระเบียบฉบับที่ 2 เพิ่มเติมขึ้นมาอีกใน พ.ศ.2497 จนถึงปี พ.ศ.2500 จึงได้เปลี่ยนหลักการจากการออกระเบียบกระทรวงกลาโหม มาเป็นข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ซึ่งกำหนดให้เรียกชื่อ ที่ทำการว่า สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ทั้งนี้ ให้จัดตั้งรวมอยู่ในสถานเอกอัครราชทูต เว้นแต่ว่าสถานที่ไม่เพียงพอ ก็ให้แยกไปอยู่ต่างหากได้
 
       การจัดตั้งปัจจุบัน - การจัดตั้งสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ไม่ว่าจะเป็นของเหล่าทัพใด ตั้งแต่ยุคไหน ช่วงไหน ไม่ว่าจะเป็นช่วงใช้ระเบียบกระทรวงกลาโหม หรือตอนเปลี่ยนมาเป็นข้อบังคับกระทรวงกลาโหม และในกรณีของกองทัพเรือ ก็ไม่ว่าจะเป็นตอนก่อนตั้ง กรมข่าวทหารเรือ หรือหลังจากนั้น ก็ยังคงมีหลักการสำคัญอย่างเดียวกัน คือเป็นไปตามความจำเป็นและเหมาะสม ดังนั้น จึงได้มีการจัดตั้งและมีการเปิดสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเจริญ เติบโต กว้างขวางของงานด้านที่เกี่ยวพันกับต่างประเทศ ในอดีตที่ผ่านมา กองทัพเรือเคยมีสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรืออยู่ในอัตรากำลังพลของกรม ข่าวทหารเรือ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 27 ประเทศ แต่ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2543 เป็นต้นมา กองทัพเรือคงมีผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ ปฏิบัติงานอยู่ใน 18 ประเทศดังนี้
       1. สหรัฐอเมริกา(สน.ผชท.ทร.ไทย /วอชิงตัน )
       2. สหราชอาณาจักร(สน.ผชท.ทร.ไทย / ลอนดอน)
       3. ฝรั่งเศส(สน.ผชท.ทร.ไทย /ปารีส )
       4. ญี่ปุ่น(สน.ผชท.ทร.ไทย /โตเกียว )
       5. ออสเตรเลีย(สน.ผชท.ทร.ไทย /แคนเบอร์รา )
       6. อินโดนีเซีย(สน.ผชท.ทร.ไทย /จาการ์ตา )
       7. ฟิลิปปินส์(สน.ผชท.ทร.ไทย/มะนิลา )
       8. อินเดีย(สน.ผชท.ทร.ไทย /นิวเดลี )
       9. พม่า(สน.ผชท.ทร.ไทย /ย่างกุ้ง )
       10. มาเลเซีย(สน.ผชท.ทร.ไทย /กัวลาลัมเปอร์ )
       11. สิงคโปร์(สน.ผชท.ทร.ไทย /สิงคโปร์ )
       12.จีน(สน.ผชท.ทร.ไทย /ปักกิ่ง )
       13. สเปน(สน.ผชท.ทร.ไทย /มาดริด )
       14. อิตาลี(สน.ผชท.ทร.ไทย /โรม )
       15. กัมพูชา(สน.ผชท.ทร.ไทย /พนมเปญ )
       16. เวียดนาม(สน.ผชท.ทร.ไทย /ฮานอย )
       17. เยอรมัน(สน.ผชท.ทร.ไทย /เบอร์ลิน )
       18. รัสเซีย(สน.ผชท.ทร.ไทย /มอสโก)
 
บทบาทและหน้าที่ของผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือไทย/กัวลาลัมเปอร์
 
เป็นที่ปรึกษา ออท.เกี่ยวกับกิจการด้านความมั่นคง
     - รายงานสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปด้านความมั่นคง ที่มีผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ของไทยต่อ สปจ.
     - ร่วมจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารงานแบบ CEO ด้านความมั่นคง
     - ร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการต่างๆที่ต้องใช้กำลังทหารร่วมในการปฏิบัติ เช่น แผนอพยพฯ
     - ช่วยกำกับดูแลงานด้านการ รปภ.ของ สอท.โดยรวม
 
เป็นผู้แทนของกองทัพไทยในกิจการทหารระหว่างประเทศ
     - กระชับความสัมพันธ์กับผู้นำทางทหารระดับสูงของประเทศที่ประจำอยู่ เพื่อความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมด้านการทหารกับ สปจ.
     - กระชับ ความสัมพันธ์กับ ผชท.ทหารจากประเทศต่างๆ โดยมุ่งเน้นกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นลำดับแรก เพื่อการแลกเปลี่ยนข่าวสารที่จะมีผลกระทบด้านความมั่นคงของภูมิภาค
     - กระชับความสัมพันธ์กับ ผชท.ทหารและพลเรือนประเทศเป้าหมาย เพื่อการรวบรวมข่าวสารที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคง
ของไทย
     - เป็นผู้แทนกองทัพไทย ในการร่วมพิธีทางทหารกับประเทศเจ้าบ้าน ร่วมประชุม และ งานสมาคมต่างๆ ตามที่กองทัพไทยมอบหมาย
     - ดูแล กิจการและผลประโยชน์ของกองทัพไทยในต่างประเทศ เช่น การจัดหาและซ่อมแซมอาวุธ การขอรับการสนับสนุนทางทหาร การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำทางทหารระดับสูง การจัดทำข้อตกลงทางทหาร การฝึกร่วม/ผสม การแลกเปลี่ยนการศึกษาทางทหาร การแลกเปลี่ยนการดูงานและทัศนศึกษา รวมทั้งการกำกับดูแลนักเรียนทหารไทยในต่างประเทศ
     - ทำการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม ที่มีผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคง อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะที่จะส่งผลต่อเนื่องต่อ การดำเนินยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของไทย และแจ้งเตือนให้กองทัพไทยรับทราบการดำเนินงานด้านการทูตฝ่ายทหารเรือของผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการทูตฝ่ายทหาร
พ.ศ. 2527 ได้แก่
     - เป็นผู้แทนทางทหารของกองทัพเรือไทยในต่างประเทศ
     - เป็นที่ปรึกษาของเอกอัครราชทูต หรืออุปทูตเกี่ยวกับกิจการทหารเรือ
     - เป็นผู้แทนของกองทัพเรือในพิธีต่างๆ
     - เป็นผู้สังเกตการณ์และประสานงานด้านกิจการทหารเรือกับเจ้าหน้าที่ทางทหารของประเทศนั้น
     - ควบคุม ดูแล และช่วยเหลือบุคคลสังกัด กองทัพเรือ ที่ไปศึกษาหรือดูกิจการ ณ ประ เทศที่ตนประจำอยู่ ให้เป็นไปตามนโยบายที่กองทัพเรือกำหนด
     - ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทย กับกองทัพประเทศที่ตนประจำอยู่
     - เชื่อมความสัมพันธ์ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารของประเทศอื่นๆ ที่ประจำอยู่ ณ ประเทศนั้น
     - เป็นผู้แทนของกองทัพเรือในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ และสิ่งของตามความต้องการของกองทัพเรือ เมื่อได้รับมอบหมาย
     - อำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ทางทหารที่จะเข้าไปยังประเทศที่ตนประจำอยู่ตามความเหมาะสม
     - ติดต่อประสานงานในการขอหรือให้ความช่วยเหลือทางทหารในกรณีที่ไม่มีหน่วยติดต่อช่วยเหลือทางทหารประจำอยู่ ณ ประเทศนั้น
     - อำนวยการและกำหนดระเบียบในสำนักงานให้สอดคล้องกับนโยบายของกองทัพเรือ และกองบัญชาการทหารสูงสุด
     - ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย
 
 
รองผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ
     - มีหน้าที่ช่วยเหลือ ผชท.ทร. ปกครองบังคับบัญชาและปฏิบัติงานของสำนักงาน
     - อำนวยความสะดวกแก่คณะข้าราชการ ซึ่งเดินทางมาราชการและดูงานในประเทศที่รับผิดชอบ
     - สมาคมกับ รอง ผชท.ทหาร และ ผชท.ทหารประเทศต่างๆ
     - ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมและบริษัทต่างๆ เกี่ยวกับการดูงานและการศึกษาของข้าราชการกองทัพเรือ
     - ดำเนินงานด้านสารบรรณ ตลอดจนร่างหนังสือโต้ตอบทางธุรการทั่วไปของสำนักงาน
     - ควบคุม ดูแล ความเป็นระเบียบเรียบร้อยตลอดจนการบำรุงรักษาพัสดุต่างๆ ของสำนักงาน
     - ดำเนินการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของผลิตภัณฑ์และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เป็นประโยชน์ทางราชการ
 
 
เสมียน
     - มีหน้าที่รับ-ส่ง และเก็บเอกสารทั่วไปของสำนักงาน
     - เป็นเจ้าหน้าที่ค้นหาระเบียบ ข้อบังคับ รปจ.ของสำนักงาน
     - ทำหน้าที่เสมียนการเงินตามที่ ผชท.ทร. มอบหมาย
     - ติดต่อขอหนังสือเดินทางฉบับใหม่ ต่ออายุหนังสือเดินทางจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ตลอดจนการทำวีซ่าเข้าประเทศ
     - พิมพ์หนังสือ